สู่หงสาวดี
เช้าตี 5 เศษจัดการทุกอย่างที่สนามบินเรียบร้อย รอเวลาเดินทาง
และในที่สุดก็ได้รับแจ้งจากสายการบินว่าเครื่องจะออกช้าไปอีก 1 ชั่วโมง จะเซ็ง บ่น เบื่อหรืออะไรก็ตาม อันนี้ไม่มีทางเลือก ก็รอและหากิจกรรมทำระหว่างรอ
เราใช้กิจกรรมเดิน และเมื่อยแล้วก็กลับมานั่งอ่านหนังสือต่อ.....จนเลยเวลาที่บอกก็รอต่อ
ในที่สุดก็ถึงเวลาให้ขึ้นเครื่องจนได้
เข้าเขตพม่า ภูเขา เทือกเขาสูงเต็มไปหมด

พม่า(Burma) ได้เปลี่ยนชื่อประเทศเป็น
the Union of Myanmar ตั้งแต่ปี 2531 แต่ไกด์คนนี้ยังเรียกชื่อเดิม
บางคนบอกว่าชาวพม่าไม่ชอบให้เรียกชื่อเดิม อันนี้คงเป็นส่วนบุคคลแต่เขาเรียกตัวเองว่า “มยะหม่า”
วันที่หนึ่งของการเดินทาง
จุดหมายปลายทางของเราวันแรกนี้คือ
"พระธาตุอินทร์แขวน" แต่ระหว่างทางก็แวะสถานที่สำคัญ รถบัสเข้าเมืองออกสู่หงสาวดีหรือเมืองพะโค
(BAGO)
อยู่ทางตอนเหนือของย่างกุ้ง ประมาณ 84 กม.
แต่เราต้องใช้เวลาในการเดินทาง 1.30 ชั่วโมง
เนื่องจากสภาพถนนบนเส้นทางที่คนพม่าบอกว่านี่คือไฮเวย์ที่ดีที่สุดของเขา
แต่สภาพก็เป็นถนนแบบชนบทไทย ภาพสองข้างทางเป็นแบบท้องทุ่งไทย (ในอดีต)
และการจำกัดความเร็วไม่เกิน 60 กม./ชม.
รถบัสที่ใช้นี้ค่อนข้างใหม่และพวงมาลัยซ้ายมือ สองข้างทางที่ผ่านมีแตงโมลูกใหญ่มากๆ วางขายเต็มไปหมดเขาว่าหวานมากถ้าเป็นแตงโมของเมืองสิเรียมและปลอดสารเคมีแน่นอน
เมืองหงสาวดีมีสัญลักษณ์เป็นรูปหงษ์ตัวเมีย (ตัวเล็ก) ยืนอยู่บนหลังหงษ์ตัวผู้ ซึ่งมีเรื่องจากตำนานเล่าขาน (หาอ่านได้)
พม่าได้รับอิทธิพลของพระพุทธศาสนามาจากอินเดียที่มีพรมแดนติดต่อกันยาวหลายพันๆกิโลเมตร
วัฒนธรรมของอินเดียจึงหลั่งไหลเข้ามาสู่พม่าพร้อมๆกับการเผยแผ่ ชาวพม่าจึงมีวัฒนธรรมที่ที่บ่งบอกความเป็นพม่าและยังคงรักษาไว้อยู่เช่น
ภาษาพม่า พุทธศาสนา การดื่มน้ำชา ชอบการกินหมากเหมือนคนอินเดีย
อาหารการกินก็มีกลิ่นเครื่องเทศ และที่เห็นได้ชัดก็คือการแต่งกายโดย
ผู้ชายยังนิยมนุ่งโสร่ง ผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่น สวมรองเท้าแตะ และทาแป้งตะนาคา
(ทานาคา) ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปตามถนนที่รถเราขับผ่าน แต่เมื่อเจอคนรุ่นใหม่หญิงสาวที่ใส่กางเกง หรือกระโปรง ไกด์อ้อยจะหงุดหงิด ไม่ชอบบ่นในรถทันที เธออนุรักษ์วัฒนธรรมมาก
สถานที่แรกที่คณะทัวร์แวะคือ
วัดไจ้คะวาย (kyakhat wine monastery) เป็นวัดแรกและวัดเดียวที่ได้พบพระสงฆ์จำนวนมากในวัด มีสิ่งน่าสนใจมากมาย.. (มีต่อ)