วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2556

เมื่อทุกข์เกิดขึ้น


เมื่อหลายวันมาแล้วมีเพื่อนรุ่นน้องมาปรับ (สารพัด) ทุกข์กับ meepole เพราะคงสะสมไว้นาน เขาก็คงไปคุยกับบางคนมาแล้ว เพราะท้ายที่สุดเขาก็พูดเอาใจ meepole ว่า ตั้งแต่คุยเล่าเรื่องนี้..มา คุยกับ meepole แล้วรู้สึกเห็นทางออก คิดได้ว่าควรทำอย่างไร และสบายใจขึ้นมาก จะลองเอาวิธีคิดไปปรับใช้..
จริงๆแล้วเรื่องที่ก่อให้เกิดทุกข์หรือสุขมันก็เข้ามาในชีวิตเราได้ทุกขณะจิต หากเราไปปรุงแต่งกับมัน จริงๆหากเรามีสติพอ รู้ทัน รับมาแล้วพิจารณาเล็กน้อย (ไม่รับก็ยิ่งดี) รู้ทันสิ่งนั้นแล้วก็วางมันเสีย หากเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข ก็ค่อยๆไตร่ตรอง ใช้สติใช้ปัญญาใคร่ครวญพิจารณา แต่ไม่เอามาเป็นอารมณ์ให้ขุ่นหมองใจ ยิ่งหากเรื่องนั้นๆ ไม่ไช่เรื่องที่เราทำผิด หรือเป็นผู้ผิดยิ่งไม่ต้องไปใส่ในอารมณ์ให้หมกมุ่นเลย ..ดำรงชีวิตทุกวันอย่างเป็นปกติ อยู่กับปัจจุบัน กับความสงบเย็นที่พึงมีในจิตที่ฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอแล้ว

“...เมื่อทุกข์เกิดขึ้น หากเอาแต่คร่ำครวญ เราก็ขาดทุน แต่ถ้าใคร่ครวญ เราก็ได้กำไร เพราะธรรมที่ได้ประจักษ์นั้นมีคุณค่ามากกว่าสิ่งที่เสียไปมากมายนัก อันที่จริง แม้ยังไม่ต้องใคร่ครวญ แค่รู้ทันทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจ ก็ช่วยได้มากแล้ว เพราะสามารถดึงใจให้ไม่ถลำเข้าไปในความทุกข์จนกลายเป็นผู้ทุกข์
ทุกข์นั้นเป็นเสมือนประตูสู่ธรรม ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงทรงยกทุกข์ให้เป็นอริยสัจข้อแรก จากนั้นจึงตามมาด้วยสมุทัย นิโรธ และมรรค ถ้าไม่เจอทุกข์ ก็ยากที่จะเข้าใจสมุทัย ไม่เห็นคุณค่าของมรรค และไม่อาจเข้าถึงนิโรธได้ อย่างไรก็ตามเมื่อเจอทุกข์แล้ว ก็ต้องเกี่ยวข้องกับทุกข์ให้เป็นนั่นคือ รู้ทุกข์ ไม่ใช่เป็นทุกข์ ดังนั้นพระองค์จึงสอนว่า ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ ไม่ใช่สิ่งที่ต้องละ ผลักไส หรือถลำเข้าไป
จะเห็นธรรมหรือถึงธรรมได้ ก็ต้องผ่านทุกข์เสียก่อน สำหรับผู้ใฝ่ธรรม ทุกข์จึงไม่ใช่สิ่งที่เลวร้าย น่ารังเกียจ หากแต่เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ หากใช้มันให้เป็น เกี่ยวข้องกับมันให้ถูก ก็เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะสามารถเปิดทางไปสู่การพ้นทุกข์ได้..” (พระไพศาล วิสาโล)

ทั้งนี้ทั้งนั้นนอกจากเข้าใจทุกข์ที่ตัวเองเผชิญแล้วสิ่งสำคัญคือการหาทางออก หาที่พึ่ง ก็ต้องใคร่ครวญให้ดี ใช้ปัญญา มีสติในการเผชิญและการแก้ปัญหา หากไปหาทางแก้แบบหลงผิด หลงทาง แทนที่จะแก้ทุกข์ กับผูกมัด พันตัวมากขึ้น ติดทุกข์ มากขึ้นไปอีก ดังพุทธพจน์ข้างล่างนี้

มนุษย์ทั้งหลายเป็นอันมาก ถูกความกลัว คุกคาม เอาแล้ว 
ย่อม ยึดถือเอา ภูเขาบ้าง ป่าไม้ที่ศักดิ์สิทธิ์บ้าง 
สวนที่ศักดิ์สิทธิ์บ้าง รุกขเจดีย์บ้าง เป็นที่พึ่งของตนๆ 
นั่นไม่ใช่ ที่พึ่ง อันทำความ เกษม ให้ได้เลย 
นั่นไม่ใช่ที่พึ่งอันสูงสุด ผู้ใดถือสิ่งนั้นๆ เป็นที่พึ่งแล้ว 
ก็ยังไม่อาจ หลุดพ้น ไปจากความทุกข์ ทั้งปวงได้

ส่วนผู้ใดที่ถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งแล้ว 
เห็นอริยสัจทั้งสี่ ด้วยปัญญาอันถูกต้อง คือ เห็นทุกข์ เห็นเหตุ 
เครื่องให้เกิดทุกข์ เห็นการก้าวล่วงไปเสียได้จากทุกข์ และ 
เห็นหนทาง อันประกอบด้วยองค์แปดประการ อันประเสริฐ 
อันเป็นเครื่องยังผู้นั้น ให้เข้าถึง ความรำงับแห่งทุกข์ นั่นแหละ 
คือ ที่พึ่งอันเกษม นั่นแหละ คือที่พึ่งอันสูงสุด 
ผู้ใด ถือเอา ที่พึ่ง นั้นแล้ว ย่อมหลุดพ้น จากทุกข์ทั้งปวงได้
  (ขุ. ธ.  ๔๐)

วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2556

การมีชีวิตช้าลง


"การมีชีวิตช้าลง" คำนี้ meepole เกือบลืมไปแล้ว จนกระทั่งได้ยินอีกครั้งเมื่อเช้านี้จากปากของ หญิงสาวผู้จบทางด้านเคมีแต่เธอรักธรรมชาติ (จากสารคดี พื้นที่ชีวิต) เธอเป็นไกด์พามาที่นี่ Olkhon Island, Russia เป็นงานอดิเรก และเพราะเธอชอบที่นี่ จากหมู่บ้านเก่าๆ ชาวประมงจนๆ กลายเป็นชาวนารวม เลี้ยงแกะ เป็นความจริงที่ในทุกๆที่ความเป็นธรรมชาติย่อมหายไปเมื่อความเจริญเข้ามา เพียงแค่ไฟฟ้าเข้ามาเกาะโอล์คอน ไซบีเรีย (Olkhon Island, Russia) ที่นี่ก็เปลี่ยนแปลงไปมาก เห็นบ้านเก่าๆหลังกระทัดรัดเห็นพื้นที่ว่างสุดลูกตา คนเก่าแก่ที่เหลืออยู่ เครื่องมือเครื่องใช้ที่ถูกปล่อยทิ้งให้โทรมไป เช่น เรือประมง โรงนาร้าง เพราะอาชีพเปลี่ยนไป เห็นแล้วน่าเศร้าใจเช่นกัน โชคดีที่ในชุมชนมีพิพิธภัณฑ์เล็กๆที่เก็บรักษาอดีตให้คนรุ่นใหม่ศึกษา (หากอยากที่จะเรียนรู้) สำหรับ meepole ที่สำคัญคือ การที่เขามีคนรุ่นก่อน ผู้อาวุโสที่มีใจรักท้องถิ่นมาช่วยกันเป็นผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ พร้อมเล่าเรื่องอดีตให้นักท่องเที่ยวฟังด้วยความรู้สึกที่ถ่ายทอดออกมาจากจิตวิญญาณ ต่างจากของเราที่จ้างลูกจ้างคนรุ่นใหม่ๆมาดูแลสถานที่เหล่านี้ แล้วบางคนก็ไม่ได้เอาใจใส่ศึกษา ไม่ได้รักใส่ใจหน้าที่ๆทำ เมื่อนักท่องเที่ยวถามอะไรที่เป็นตำนานก็จะไม่รู้นอกจากเอกสารที่วางตั้งให้หยิบอ่านเอง พิพิธภัณฑ์และสถานที่ประวัติศาสตร์จึงดูแห้งแล้ง ผ่านมาดูแล้วผ่านไป ความประทับใจ รู้สึกซาบซึ้งไม่ค่อยจะได้รับนัก..วรรณสิงห์ (ผู้ทำรายการ) ก็ได้ถามเธอว่า "สำหรับเธอตอนนี้อะไรเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกว่ามีความสำคัญ"..เธอตอบว่า "คงเป็นเกาะนี้ื เพราะทุกครั้งเมื่อเธอมาที่เกาะนี้เธอรู้สึกว่า เธอมีชีวิตที่ช้าลง ต่างจากตอนที่เธออยู่ในเมือง ชีวิตเธอดูเร่งรีบวุ่นวาย แต่ที่นี่เธอได้อยู่กับธรรมชาติ มองดูมัน แม้ว่ามันจะเริ่มแปรเปลี่ยนไปบ้าง....." คำนี้ทำให้ meepole ย้อนคิดมองตัวเองเช่นกันว่า การที่ได้เอาตัวออกจากสังคม (แต่ยังทำหน้าที่ทำประโยชน์ให้ส่วนรวม) โดยไม่ต้องมีตัวตน อยู่กับธรรมชาติ (ป่ารอบบ้าน สุนัข นก ฯ) มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ชีวิตแต่ละวันก็สงบเย็น เป็นประโยชน์ ชีวิตที่ผ่านไปในแต่ละวันรู้สึกร่มเย็น ไม่ร้อนรุ่ม วุ่นวาย..ต่างจากบางวันที่ต้องออกไปสู่สังคมด้วยความจำเป็นในหน้าที่ ที่บางครั้งก็มีฝุ่นละอองปลิวมาติดบ้าง เหนื่อยจนรู้สึกว่า เฮ้อ!! (หลายคนคงเคยเป็น) ชีวิตที่ช้าลงของ meepole จึงเป็นชีวิตที่อยู่กับตัวเองอย่างมีสติ อยู่กับธรรมชาติ กับสิ่งที่เรารักและรักเรา อยู่เย็น ก็เป็นสุข


ข้อคิดอีกอย่างที่ meepole ได้จากรายการนี้ในวันนี้ คือคำตอบของชายชรา (80 กว่า) ที่เกิดที่นั่นและเขาบอกว่จะตายที่นั่นด้วยคำถามที่ว่า "อะไรเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตของเขา" คำตอบนั้นโดนใจ "สิ่งสำคัญที่สุดแปรเปลี่ยนเสมอ สมัยหนุ่มๆการมีชีวิตรอดจากการหลบภัยสงครามสำคัญที่สุด แต่ตอนนี้สิ่งสำคัญที่สุดกลับเป็นหลานๆของเขา ชีวิตเขาตอนนี้เขาไม่ได้ให้ความสำคัญอะไรแล้ว" จริงแท้ทีเดียวสำหรับคำตอบนี้ ตอนจบของรายการนี้ตั้งคำถามให้เราหาคำตอบว่า " สิ่งมีค่าที่สุดในแต่ละช่วงชีวิตของคุณมีอะไรบ้าง" คำถามนี้บ่งบอกการเรียนรู้สัจจธรรมของชีวิตได้ชัดเจนทีเดียวว่า ชีวิตเราไม่มีอะไรแน่นอนจริงๆ ใจเราเปลี่ยนได้แทบทุกวินาทีด้วยซ้ำ..ชีวิตจึงต้องประคองด้วยการมีสติ ลดการปรุงแต่ง ฝึกทำจิตให้ว่างจนเป็นปกติ อ่านจบแล้ว อย่าลืมลองตอบคำถามข้างต้นนี้ดูนะคะ :)