วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2556

เมื่อทุกข์เกิดขึ้น


เมื่อหลายวันมาแล้วมีเพื่อนรุ่นน้องมาปรับ (สารพัด) ทุกข์กับ meepole เพราะคงสะสมไว้นาน เขาก็คงไปคุยกับบางคนมาแล้ว เพราะท้ายที่สุดเขาก็พูดเอาใจ meepole ว่า ตั้งแต่คุยเล่าเรื่องนี้..มา คุยกับ meepole แล้วรู้สึกเห็นทางออก คิดได้ว่าควรทำอย่างไร และสบายใจขึ้นมาก จะลองเอาวิธีคิดไปปรับใช้..
จริงๆแล้วเรื่องที่ก่อให้เกิดทุกข์หรือสุขมันก็เข้ามาในชีวิตเราได้ทุกขณะจิต หากเราไปปรุงแต่งกับมัน จริงๆหากเรามีสติพอ รู้ทัน รับมาแล้วพิจารณาเล็กน้อย (ไม่รับก็ยิ่งดี) รู้ทันสิ่งนั้นแล้วก็วางมันเสีย หากเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข ก็ค่อยๆไตร่ตรอง ใช้สติใช้ปัญญาใคร่ครวญพิจารณา แต่ไม่เอามาเป็นอารมณ์ให้ขุ่นหมองใจ ยิ่งหากเรื่องนั้นๆ ไม่ไช่เรื่องที่เราทำผิด หรือเป็นผู้ผิดยิ่งไม่ต้องไปใส่ในอารมณ์ให้หมกมุ่นเลย ..ดำรงชีวิตทุกวันอย่างเป็นปกติ อยู่กับปัจจุบัน กับความสงบเย็นที่พึงมีในจิตที่ฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอแล้ว

“...เมื่อทุกข์เกิดขึ้น หากเอาแต่คร่ำครวญ เราก็ขาดทุน แต่ถ้าใคร่ครวญ เราก็ได้กำไร เพราะธรรมที่ได้ประจักษ์นั้นมีคุณค่ามากกว่าสิ่งที่เสียไปมากมายนัก อันที่จริง แม้ยังไม่ต้องใคร่ครวญ แค่รู้ทันทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจ ก็ช่วยได้มากแล้ว เพราะสามารถดึงใจให้ไม่ถลำเข้าไปในความทุกข์จนกลายเป็นผู้ทุกข์
ทุกข์นั้นเป็นเสมือนประตูสู่ธรรม ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงทรงยกทุกข์ให้เป็นอริยสัจข้อแรก จากนั้นจึงตามมาด้วยสมุทัย นิโรธ และมรรค ถ้าไม่เจอทุกข์ ก็ยากที่จะเข้าใจสมุทัย ไม่เห็นคุณค่าของมรรค และไม่อาจเข้าถึงนิโรธได้ อย่างไรก็ตามเมื่อเจอทุกข์แล้ว ก็ต้องเกี่ยวข้องกับทุกข์ให้เป็นนั่นคือ รู้ทุกข์ ไม่ใช่เป็นทุกข์ ดังนั้นพระองค์จึงสอนว่า ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ ไม่ใช่สิ่งที่ต้องละ ผลักไส หรือถลำเข้าไป
จะเห็นธรรมหรือถึงธรรมได้ ก็ต้องผ่านทุกข์เสียก่อน สำหรับผู้ใฝ่ธรรม ทุกข์จึงไม่ใช่สิ่งที่เลวร้าย น่ารังเกียจ หากแต่เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ หากใช้มันให้เป็น เกี่ยวข้องกับมันให้ถูก ก็เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะสามารถเปิดทางไปสู่การพ้นทุกข์ได้..” (พระไพศาล วิสาโล)

ทั้งนี้ทั้งนั้นนอกจากเข้าใจทุกข์ที่ตัวเองเผชิญแล้วสิ่งสำคัญคือการหาทางออก หาที่พึ่ง ก็ต้องใคร่ครวญให้ดี ใช้ปัญญา มีสติในการเผชิญและการแก้ปัญหา หากไปหาทางแก้แบบหลงผิด หลงทาง แทนที่จะแก้ทุกข์ กับผูกมัด พันตัวมากขึ้น ติดทุกข์ มากขึ้นไปอีก ดังพุทธพจน์ข้างล่างนี้

มนุษย์ทั้งหลายเป็นอันมาก ถูกความกลัว คุกคาม เอาแล้ว 
ย่อม ยึดถือเอา ภูเขาบ้าง ป่าไม้ที่ศักดิ์สิทธิ์บ้าง 
สวนที่ศักดิ์สิทธิ์บ้าง รุกขเจดีย์บ้าง เป็นที่พึ่งของตนๆ 
นั่นไม่ใช่ ที่พึ่ง อันทำความ เกษม ให้ได้เลย 
นั่นไม่ใช่ที่พึ่งอันสูงสุด ผู้ใดถือสิ่งนั้นๆ เป็นที่พึ่งแล้ว 
ก็ยังไม่อาจ หลุดพ้น ไปจากความทุกข์ ทั้งปวงได้

ส่วนผู้ใดที่ถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งแล้ว 
เห็นอริยสัจทั้งสี่ ด้วยปัญญาอันถูกต้อง คือ เห็นทุกข์ เห็นเหตุ 
เครื่องให้เกิดทุกข์ เห็นการก้าวล่วงไปเสียได้จากทุกข์ และ 
เห็นหนทาง อันประกอบด้วยองค์แปดประการ อันประเสริฐ 
อันเป็นเครื่องยังผู้นั้น ให้เข้าถึง ความรำงับแห่งทุกข์ นั่นแหละ 
คือ ที่พึ่งอันเกษม นั่นแหละ คือที่พึ่งอันสูงสุด 
ผู้ใด ถือเอา ที่พึ่ง นั้นแล้ว ย่อมหลุดพ้น จากทุกข์ทั้งปวงได้
  (ขุ. ธ.  ๔๐)