วันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2556

องค์คุณของอุบาสกอุบาสิกา



Meepole ได้อ่านเรื่ององค์คุณของอุบาสกอุบาสิกานี้แล้วตรงใจกับที่อยากบอก อยากบ่นออกมาตามประสาคนไกล้แก่ทุกครั้งที่ได้เห็นข่าวในสื่อบ่อยๆโดยเฉพาะช่องน้อยสี ที่ผู้สื่อข่าว และพิธีกร ชอบหาเรื่องเช่นนี้มามอมเมาในวันใกล้ล็อตเตอรี่ออก..โดยจะเห็นข่าวตุ๊กแก 2 หาง หมู 3 หน้า ควาย 6 ขา เต่าลายพิสดาร ต้นไม้ออก..คล้ายอวัยวะบางชิ้น แล้วก็แห่กันไปจุดธูปไหว้ขอเลข ขอพร ติดทองกับสัตว์พิการพวกนั้น พวกนั้นเป็นสัตว์มีกรรมหนัก เกิดมาผิดปกติ อายุสั้น ไม่นานก็ตาย บางทีเกิดแล้วตายเลย ก็ไปกราบไหว้ปักธูปติดทองมันอยู่ได้ทางวิทยาศาสตร์เรียกสัตว์พวกนี้ว่า “วิรูป” (เคยเขียนแล้ว) เศร้าใจเมื่อเห็น พวกนี้ไม่ไช่คนพุทธ ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ ไม่เข้าใจ ไม่เรียนรู้คำสอน แต่เป็นพวกนับถือผี พวกคนไร้ศาสนามากกว่า เพราะศาสนาพุทธไม่ได้สอนให้เป็นเช่นนั้น จริงๆแล้วเวลาระบุในใบประวัติส่วนตัวน่าจะมี 2 ช่องคือ ศาสนา....และช่อง ไร้ศาสนา ไว้ให้กาหรือเติมคำ.....วันนี้ขอเอาเรื่องนี้ของท่านพระพรหมคุณาภรณ์ มาบันทึกไว้เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องที่เราผู้นับถือศาสนาพุทธ ต้องยึดปฏิบัติเป็นแนวทางที่ถูกต้อง และอธิบายบอกต่อ เพื่อช่วยกันสืบสานพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้องต่อไปให้สมกับที่ชื่อว่าเป็น “คนพุทธ”

องค์คุณของอุบาสกอุบาสิกา

ถ้าชาวพุทธมีคุณสมบัติของอุบาสกอุบาสิกา สังคมไทยจะพ้นปัญหาแน่นอน

ถ้าท่านผู้ใดปฏิบัติได้ครบ ๕ ข้อนี้ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่าเป็น อุบาสกรัตนะ และอุบาสิการัตนะ คือเป็นอุบาสกแก้ว เป็นอุบาสิกาแก้ว

(แก้วในที่นี้ หมายความว่า มีคุณค่าสูง ดีงาม ประเสริฐ)

 องค์คุณของอุบาสกอุบาสิกา ซึ่งตามมาตรฐานทั่วไป มีอยู่ ๕ ข้อ คือ

๑. มีศรัทธา เป็นเบื้องต้น คือมีความเชื่อ มีความมั่นใจในพระรัตนตรัย ความเชื่อของเรานี้ต้องเป็นความเชื่อที่ประกอบด้วยปัญญา ไม่ศรัทธางมงาย เพราะฉะนั้นจะเชื่อหรือมีศรัทธา ก็ควรจะเข้าใจความหมายของสิ่งที่ตนเชื่อด้วย

เมื่อศรัทธาในพระรัตนตรัย เราต้องรู้เข้าใจว่า พระรัตนตรัยคืออะไร มีความหมายอย่างไรการที่ศรัทธาถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ยึดเอาเป็นที่พึ่งนั้น คือปฏิบัติอย่างไร

๒. มีศีล อย่างน้อยตั้งตนอยู่ในศีล ๕ ซึ่งจะทำให้มีชีวิตที่ดีงาม เป็นฐานสำหรับตนเองที่จะก้าวไปสู่การปฏิบัติเบื้องสูง พร้อมกันนั้นก็เป็นเครื่องช่วยเกื้อกูลสังคม เพราะว่าผู้ถือศีล ๕ เป็นผู้ไม่เบียดเบียนคนอื่น แต่ดำรงชีวิตที่สุจริต ใครตั้งอยู่ในศีล ๕ ก็ทำให้ที่นั้นมีความปลอดภัย

ถ้าทุกคนรักษาศีล ๕ ได้ สังคมของเราก็จะร่มเย็นเป็นสุข มีความมั่นคงอย่างแน่นอน เป็นหลักประกันสันติสุขของสังคมที่มั่นใจได้ เวลานี้ที่เป็นปัญหามากก็คือ สังคมนี้ขาดศีล ๕ เป็นอย่างยิ่ง

๓. อโกตูหลมังคลิกะ แปลกันว่า ไม่ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล คือไม่มัวหวังผลจากความเชื่อถือนอกหลักพระพุทธศาสนา ที่เป็นความงมงาย ได้แต่หวังผลจากการดลบันดาลต่างๆ แต่ให้เชื่อกรรม คือเชื่อการกระทำที่เป็นไปตามเหตุผล ให้หวังผลจากการกระทำด้วย ความเพียรพยายามของตน คุณสมบัติข้อนี้จะต้องให้เป็นหลักสำคัญอย่างหนึ่งของสังคมไทยของเรา

เวลานี้คุณสมบัติเพียงข้อ ๑ ถึงข้อ ๓ นี้ ถ้าเราเอามาตั้งเป็นมาตรฐานหรือเป็นเกณฑ์วัดละก็ คงจะเหลืออุบาสกอุบาสิกาน้อยเหลือเกิน เพราะฉะนั้นสังคมของเราจึงเห็นได้ชัดว่า มีความเสื่อมโทรม แปรปรวนไปต่างๆ มากมาย

เวลานี้ที่มีปัญหาออกมาเป็นข่าวต่างๆ มากมาย จะเห็นว่าเป็นเพราะสังคมของเราเสื่อมลงไปจากพระพุทธศาสนา กลายเป็นสังคมที่ไม่มีหลัก แค่ข้อ ๑ ถึงข้อ ๓ นี่ก็แย่แล้ว ถ้าขาดข้อ ๒ คือเสื่อมศีล ก็ทำให้สังคมระส่ำระสาย พอขาดข้อ ๓ คือไม่หวังผลจากการเพียรทำ สังคมก็อ่อนแอ เมื่อพลเมืองไม่เข้มแข็ง ขาดคุณภาพ ไม่รู้จักเพียรพยายามทำการต่างๆ ให้บรรลุผลด้วยเรี่ยวแรงกำลังของตนเอง ได้แต่มัวหวังพึ่งนอนรอคอยอะไรต่างๆ เมื่อเป็นอย่างนี้ สังคมจะเจริญได้อย่างไร

ถ้ามีองค์คุณของอุบาสกอุบาสิกาถึงข้อ ๓ นี้เท่านั้น สังคมของเราก็เจริญมั่นคงได้แน่นอน


๔. ไม่แสวงหาเขตบุญนอกหลักพระพุทธศาสนา สังคมไทยเวลานี้แปรปรวนในเรื่องนี้มาก ซึ่งก็สืบเนื่องจากข้อ ๓ นั่นเอง เมื่อถือมงคลตื่นข่าว ไปเชื่อเรื่องไม่เข้าเรื่อง แล้วเขตบุญก็ย้ายออกจากพระพุทธศาสนาไปหาเขตบุญภายนอก ก็ยิ่งไปส่งเสริมให้ความเชื่อผิดปฏิบัติผิดแพร่หลายยิ่งขึ้น และแหล่งคำสอนที่ถูกต้องคนก็ไม่เอาใจใส่ คนก็ยิ่งห่างจากหลักศาสนาออกไป ไม่รู้และไม่เอาใจใส่ในหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า

๕. กระทำบุพการในพระศาสนานี้ หมายความว่าทำการขวนขวาย ทะนุบำรุงอุปถัมภ์พระสงฆ์ และกิจการพระพุทธศาสนาที่จะทำให้พระธรรมวินัยเจริญมั่นคง นำกันช่วยกันดำเนินกิจการและทำกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นกุศลแท้จริง ที่เป็นเรื่องถูกทำนองคลองธรรม ที่จะทำให้ศีลธรรมเจริญงอกงาม


ดังนั้นถ้าเราเอาใจใส่ในหลักองค์คุณของอุบาสกอุบาสิกา ๕ ประการนี้ เพียงเท่านี้พระพุทธศาสนาก็ดำรงอยู่ด้วยดี สังคมไทยก็เจริญมั่งคงก้าวหน้า มีความเข้มแข็งแกร่งกล้ายิ่งขึ้นไป แต่เวลานี้มีปัญหา คนไทยขาดคุณสมบัติเหล่านี้กันมากมายเหลือเกิน เพราะฉะนั้นเราต้องมาช่วยกันแก้ไข

โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
ธรรมกถา แก่ชาวธรรมะร่วมสมัย ผู้เดินทางไปทำบุญที่วัดญาณเวศกวัน
ในโอกาสเข้าพรรษาใหม่ๆ ณ วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔