วันนี้เป็นวันวิสาขบูชา
meepole จึงขอเขียนเรื่องนี้เพื่อเป็นพุทธบูชา
มีหลายคนมากเคยถาม meepole ว่า
“อาจารย์ตักบาตรทุกวันหรือคะ” ก็จะตอบเขาเสมอว่า “ไม่ทุกวันค่ะ” ตักบาตรเมื่อตั้งใจจะอุทิศผลบุญให้ผู้ล่วงลับในแต่ละครั้ง
เช่น เพื่อนตาย ทหารหรือตำรวจชายแดนที่ตายในหน้าที่ ผู้ที่เคารพหรือมีพระคุณตาย และ ก็ตักตามโอกาสต่างๆ เช่น
ช่วงเข้าพรรษา มีพระมาก แต่คนตักบาตรมีเท่าเดิม หรือมีการบวชเณรฤดูร้อนที่มีเณรมาก
..........อุบาสก อุบาสิกาจึงควรต้องถือโอกาสนั้นเป็นธุระช่วยกันถวายภัตตาหารหรือปัจจัยเพื่อแบ่งเบาภาระและช่วยกันอนุโมทนาสืบสานต่อพุทธศาสนา
แม้บางครั้งในเส้นทางไปทำงานจะพบพระในวัดชนบทนอกเมืองเดินบิณฑบาต และหากเห็นว่าท่านยังไม่ค่อยมีอาหารก็จะรีบไปซื้อหามาถวาย
แต่สิ่งที่ meepole
พยายามทำทุกวันคือ การประพฤติธรรม
ธมฺมจารี สุขํ เสติ :
ผู้ประพฤติธรรม ย่อมอยู่เป็นสุข
ในมงคลที่ ๑๖
มีพระบาลีว่า ธมฺมจริยา จ เอตมฺมํคลมุตฺตมํ ซึ่งแปลเป็นใจความว่า การประพฤติธรรมจัดเป็นอุดมมงคล
ในที่นี้ "ผู้ประพฤติธรรม" หมายถึง ผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นมีมาตั้งแต่ระดับเบื้องต้นถึงระดับสูงสุด
พระธรรมเบื้องต้นที่ควรประพฤติปฏิบัตินั้นได้แก่
ศีล 5 และธรรม 5 ตลอดจนการประพฤติธรรมตามหลักกุศลกรรมบถ
10 เป็นสิ่งที่เป็นความดี ก่อให้เกิดประโยชน์คือ
ทำให้เกิดความเรียบร้อยทางกาย วาจา ทำให้จิตใจผ่องใส สงบและมีความสว่าง
ทำให้เกิดความสุข ความเจริญ
ธรรมจริยา คือ
การประพฤติธรรม คนที่มีธรรมจริยานั้นเรียกว่า ธรรมจารี
ผู้ประพฤติธรรมเป็นปกติ
การประพฤติธรรมพอสรุปได้เป็น 2 คือ
1.ประพฤติเป็นธรรม หมายถึง ทำความประพฤติหรือหน้าที่ของตนให้ถูกต้องและให้ดียิ่งขึ้น เช่น คนเรียนหนังสือ ก็ให้เรียนให้ถูกให้ดีไม่ทุจริตลอกการบ้าน จ้างทำงานวิจัย ทำธุรกิจค้าขายก็ทำสิ่งถูกต้องให้ดีไม่โกง เป็นข้าราชการก็ทำหน้าที่ให้ถูกต้องใส่ใจประชาชน ไม่คอรัปชั่น และพยายามทำให้ถูกให้ดีต่อๆ ไปคือรักษาความดีให้ยืนนาน
2.การประพฤติตามธรรม หมายถึง การฝึกอบรมตนตามแนวทางของธรรมะให้สูงขึ้นตามลำดับ เช่น ไม่เคยรักษาศีลก็ฝึกรักษาศีล ไม่เคยบำเพ็ญภาวนาเจริญสติ หรือปฏิบัติสมถะภาวนา ไม่เคยสวดมนต์ไหว้พระก็ฝึกทำ อย่างนี้เรียกว่าประพฤติตามธรรมคือ การทำถูกทำดี ไม่ว่าใครจะอยู่ในหน้าที่การงานอย่างไร งานทุกอย่างย่อมต้องการความถูกต้องและความดีทั้งนั้น การทำให้ถูกทำให้ดีนั้นก็จะได้ผลดี ไม่ทำให้เดือดร้อนในภายหลัง
1.ประพฤติเป็นธรรม หมายถึง ทำความประพฤติหรือหน้าที่ของตนให้ถูกต้องและให้ดียิ่งขึ้น เช่น คนเรียนหนังสือ ก็ให้เรียนให้ถูกให้ดีไม่ทุจริตลอกการบ้าน จ้างทำงานวิจัย ทำธุรกิจค้าขายก็ทำสิ่งถูกต้องให้ดีไม่โกง เป็นข้าราชการก็ทำหน้าที่ให้ถูกต้องใส่ใจประชาชน ไม่คอรัปชั่น และพยายามทำให้ถูกให้ดีต่อๆ ไปคือรักษาความดีให้ยืนนาน
2.การประพฤติตามธรรม หมายถึง การฝึกอบรมตนตามแนวทางของธรรมะให้สูงขึ้นตามลำดับ เช่น ไม่เคยรักษาศีลก็ฝึกรักษาศีล ไม่เคยบำเพ็ญภาวนาเจริญสติ หรือปฏิบัติสมถะภาวนา ไม่เคยสวดมนต์ไหว้พระก็ฝึกทำ อย่างนี้เรียกว่าประพฤติตามธรรมคือ การทำถูกทำดี ไม่ว่าใครจะอยู่ในหน้าที่การงานอย่างไร งานทุกอย่างย่อมต้องการความถูกต้องและความดีทั้งนั้น การทำให้ถูกทำให้ดีนั้นก็จะได้ผลดี ไม่ทำให้เดือดร้อนในภายหลัง
ทำดีอย่างเดียวไม่พอ ที่ต้องทำอีกสิ่งคือ การเว้นจากความชั่ว
(ไม่ไช่ตักบาตรทุกเช้า แต่ก็ดื่มเหล้าเล่นการพนันทุกเย็น)
การเว้นจากความชั่ว มี 3 วิธีคือ
1. สัมปัตตวิรัต หมายถึง งดเว้นในเมื่อประจวบเข้ากับเหตุนั้นๆ คือ ไม่ได้คิดที่จะงดเว้นมาก่อน แต่เมื่อเหตุนั้น ๆ มาถึงตัวเข้า จะล่วงละเมิดก็ได้ แต่ไม่ล่วงเกิน เช่น เห็นสัตว์ซึ่งถ้าจะฆ่าก็ฆ่าได้แต่ไม่ฆ่า เห็นทรัพย์ ซึ่งถ้าจะขโมยก็ได้แต่ไม่ทำ เห็นหญิงสาวซึ่งถ้าจะล่วงเกินก็ได้แต่ไม่ทำ มีโอกาสจะพูดเท็จก็ได้ แต่ไม่พูด มีตำแหน่งหน้าที่ที่สามารถคอรัปชั่นได้ แต่ไม่ทำและไม่สนับสนุนให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำ เพราะนึกถึงชาติ ตระกูลและฐานะของตน เกิดหิริโอตตัปปะ คือความละอายและความเกรงกลัวต่อบาปเกิดขึ้นในใจ จึงงดเว้นทำความชั่วนั้น ๆ ได้
2. สมาทานวิรัติ หมายถึง งดเว้นเพราะสมาทาน คือ ได้ปฏิญาณไว้ว่าจะไม่ทำอย่างนั้น ๆ เช่น รับศีลแล้วก็รักษาได้อย่างเคร่งครัด รักษาสัจจะ ไม่คอรัปชั่นโกงทรัพย์แผ่นดิน เป็นต้น
3. สมุจเฉทวิรัติ หมายถึง งดเว้นบาปได้เด็ดขาด คือ ไม่ทำความชั่วตลอดชีวิต เป็นการงดเว้นของพระอริยบุคคล
การงดเว้นจากความ ชั่ว คือการงดเว้นเหตุแห่งความทุกข์ไม่ทำเรื่องที่จะให้ถึงความเดือดร้อนจึงไม่มี ทุกข์ ไม่มีความเดือดร้อน มีแต่ ความสุข สงบ ร่มเย็น ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งตนเองและผู้อื่น จึงเป็นมงคลอันสูงสุด
ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ
ธรรมนั่นแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม
ธมฺโม สุจิณฺโน สุขมาวหาติ
ธรรมที่บุคคลสั่งสมไว้ดีแล้ว นำความสุขมาให้
เอสานิสํโส ธมฺเม สุจิณฺเณ
ข้อนี้แหละเป็นอานิสงส์ในธรรม
น ทุคฺคตึ คจฺฉติ ธมฺมจารี
ผู้ประพฤติธรรมดีเรียบร้อยไม่ไปสู่ทุคติ
สพฺพปาปสฺส อกรณํ ชั่วด้วยกาย วาจา ใจ ไม่กระทำเป็นเด็ดขาด
กุสลสฺสูปสมฺปทา ดีด้วยกาย วาจา ใจ ทำจนสุดสามารถ
สจิตฺตปริโยทปนํ ทำใจของตนให้ผ่องใส
มนุษย์เราจำเป็นต้องอยู่ร่วมกันเป็นสังคม ซึ่งการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมมักเกิดปัญหาขึ้นอยู่เสมอ โดยเฉพาะการกระทบกระทั่งกันด้วยวาจา ด้วยใจ และการเบียดเบียนกันไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่ก็ตาม สังคมที่มีแต่การเบียดเบียนกันนั้นย่อมหาความสุขไม่ได้ บางครั้งเราไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงคนอื่นได้ แต่เราสามารถจัดการกับตัวเราเองได้ง่ายกว่า การปฏิบัติตนให้ดี มีจิตตั้งมั่นในความดี ประพฤติธรรมสม่ำเสมอ เมื่อมีสิ่งกระทบย่อมไม่กระเทือน ตั้งมั่นได้ด้วยธรรมะและปัญญา ย่อมจะช่วยให้ชีวิตของเราโปร่งโล่งเบาสบาย พบสุขที่สงบ อย่างแท้จริง